วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อินเทอร์เน็ต : บทบาทต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทยในอนาคต

อินเทอร์เน็ต : บทบาทต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทยในอนาคต
         ธารพรรษ สัตยารักษ์ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ได้ให้ความกรุณา มาสร้างสรรค์พื้นที่หน้ากระดาษตรงนี้ให้มีความหลากหลายโดยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ อินเทอร์เน็ตเพื่อการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ที่มีความเคร่งขรึมในเนื้อหาและการนำเสนอ แต่นับว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในวงการการศึกษาของไทยไม่น้อยทีเดียว *********************************************
         เมื่อ วันอาทิตย์ที่16 มกราคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายโดย ท่าน ดร. รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในหัวข้อ " บทบาทครูยุคใหม่ กับ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ" ณ วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ แม้ว่าผมจะไม่เชี่ยวชาญ หรือ สันทัดในเรื่องการปฎิรูปการศึกษา แต่หลังจากการ บรรยาย ผมได้เข้าใจในเจตนา และเนื้อหาของ พรบ. ฉบับนี้มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดใน พรบ. ฉบับนี้ อยู่ในหมวด 4 ซึ่งครูจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนจากครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการสอนโดยนัก เรียนเป็นศูนย์ กลาง นั่นคือจะต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและนัก เรียน การสอนจะต้องเป็น ไปในลักษณะการฝึกให้นักเรียนเรียนจากสภาพจริง ฝึกให้ปฎิบัติจริงมากกว่าที่จะสอนแบบให้เด็กท่องจำ พรบ. ฉบับนี้ให้ความสำคัญการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการศึกษาไม่ใช่เสร็จสิ้นหลังจากที่ผู้เรียนได้รับใบประกาศ นียบัตร หรือ ปริญญาบัตร พรบ. ฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อคนไทยทั้ง 60 ล้านคน และท่าน ดร. รุ่งได้คาดหวัง ว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปีนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผมมองเห็นว่า (และมีความหวังว่า) ในอนาคตข้างหน้า เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี (Internet and Technology) มาช่วยในการปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนได้ เพราะอินเทอร์เน็ต ได้สร้างโอกาสและมีจุดเด่นในหลายด้านในการส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ไม่สามารถทำได้เช่นในอดีต โดยผมจะ มองวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้ อินเทอร์เน็ตส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้หลากหลาย ตรงกับความสนใจและความถนัดของผู้ เรียน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเรียนและพัฒนาได้เต็มศักยภาพ วิธีการสอนในอดีตและปัจจุบันเป็นการสอนให้นัก เรียนทุกๆ คนเรียนเหมือนๆ กัน และถ้าเรายังใช้วิธีการสอนอย่างนี้เรื่อยไป ในอนาคตเราจะไม่สามารถสร้าง บุคคลอัจฉริยะในแต่ละด้านได้ เพราะการจัดการศึกษาแบบนี้เปรียบเหมือนการสอนนักเรียนที่เรียกว่า "Mass Education" ซึ่งไม่ได้สร้างจุดเด่นให้เกิดในตัวผู้เรียนแต่ละบุคคล แต่อินเทอร์เน็ตที่ประสบความสำเร็จ ในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และสามารถตอบสนองความต้องการให้ แต่ละบุคคลที่เราเรียกกันว่า "Customization" เหมือนเช่น บริษัท Dell Computer สหรัฐอเมริกา ซึ่งประสบ ความสำเร็จอย่างสูงในการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งมีอุปกรณ์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ (Specification) ตามความต้อง การของผู้บริโภคแต่ละคน วิธีการดังกล่าวนี้น่าจะมีรูปแบบซึ่งสามารถนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ในการ ปฏิรูป การศึกษา โรงเรียนในอนาคตจะต้องเปิดวิชาเลือกเสรีให้ผู้เรียนมากขึ้น นักเรียนชายไม่จำเป็นจะต้องมานั่ง เรียนเย็บปักถักร้อยเหมือนแต่ก่อน (แต่ถ้ามีนักเรียนชายบางกลุ่มอยากเรียน ก็คงไม่มีใครห้าม) เป็นต้น แต่นักเรียนจะมีสิทธิในการเลือกเรียนในวิชาที่ตนสนใจ และถนัด และโรงเรียนจำเป็นจะต้องสนับสนุนให้ นักเรียนผู้นั้นพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มาลองดูสิครับว่า อินเทอร์เน็ตจะช่วยเราได้อย่างไร โรงเรียนในอนาคต (สำหรับบางประเทศได้มีโรงเรียนอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว) จะต้องสร้างเครือข่ายการ เรียนรู้ให้กว้างออกไปมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ห้องสมุดของโรงเรียนเท่านั้น การเรียนจะต้องออก ไปสัมผัสกับประสบการณ์จริง หากแต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายเช่นนั้น อย่างไรก็ตามอินเทอร์เน็ตได้ช่วยให้ นักเรียนได้เห็น ได้เรียนรู้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น(ถึงแม้จะไม่มากที่สุด) เพราะเทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Multimedia Technology) ได้ช่วยให้เห็นภาพเคลื่อนไหว ได้ยินเสียง แม้จะไม่สัมผัส ได้กลิ่น หรือ ลิ้มรสได้ ที่สำคัญมัลติมีเดียได้สร้างความบันเทิงในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เหมือนอย่างที่ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้พูดถึงคำว่า Play + Learn = เพลิน ว่าเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอน มัลติมีเดียได้สร้างปรากฏ การณ์ที่เราเรียกว่า "Interactive" หรือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสื่อการสอนหรือกับผู้เรียนคนอื่นๆ ทำให้ ผู้เรียนสนุกและเพลินกับการเรียนรู้ เพราะว่าเขาไม่ได้ถูกยัดเยียดให้ท่องจำในสิ่งที่เขาไม่สนใจ แต่ได้เรียน ได้ค้นคว้าในสิ่งที่เขาสนใจ ตัวอย่างสมมติ ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งอาจจะสนใจเรื่อง วิวัฒนาการของเครื่องบิน ครูวิทยาศาสตร์ที่ดีคนหนึ่งก็พยายามอธิบายกลไกการทำงานของเครื่องบินว่าบิน ได้อย่างไร เมื่อนักเรียน เริ่มเข้าใจดีแล้ว เขาก็จะถามต่อไปยากขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณครูผู้ใจดีอาจจะไม่สามารถตอบได้ดีนัก อย่างไรก็ ตามที่โรงเรียนแห่งนั้นมีการให้บริการอินเทอร์เน็ต ครูคนดังกล่าวจึงแนะนำให้นักเรียนให้เข้าไปศึกษาใน เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งครูได้รวบรวมมา แล้วก็ให้นักเรียนคนดังกล่าวทำการค้นคว้า และ ให้ทำรายงานสรุป เมื่อผู้เรียนได้เข้าไปศึกษาในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ ได้เห็นภาพเคลื่อนไหว กลไกการทำงาน ต่าง ๆ ซึ่งยากจะอธิบายโดยปากเปล่า เมื่อคลิกไปยังส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบินก็จะมีคำบรรยาย นอกจากนี้ยัง ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่จัดทำเว็บไซต์ หรือผู้เรียนจากทั่วทุกมุมโลก ใน Forum หรือ Web Board กระบวนการเรียนการสอนแบบนี้จึงเป็นการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์ กลาง โดยมีครูเป็นผู้คอยชี้ แนะแนวทาง เป็นผู้ช่วยแก้ปัญหา ชี้ทางสว่างให้กับเด็ก และมีวิธีการประเมินผลการเรียนของผู้เรียนได้อย่าง เหมาะสม ณ โรงเรียนแห่งเดิม ในชั่วโมงสันทนาการหรือชั่วโมงว่าง นักเรียนคนหนึ่งซึ่งเป็นเซียนหมากรุกที่เก่ง ที่สุดในโรงเรียน ได้รับคำแนะนำจากคุณครู ให้นักเรียนลองเข้าไปแข่งหมากรุกผ่านทางอินเทอร์เน็ตร่วมกับผู้ เล่นจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาสมองของผู้เล่นให้เข้าใกล้ศักยภาพมากที่สุด และที่สำคัญเป็นการสอนให้นักเรียน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพราะไม่มีวันที่นักเรียนผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะตลอดไป ซึ่ง ถือว่าคุณครูได้สอดแทรกจริยธรรมให้กับผู้เรียน และตรงกับเป้าหมายของพรบ. ที่ต้องการให้ครูปลูกฝังจริย ธรรมในทุกวิชาที่สอน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในอนาคตที่ผมคาดหวัง จะยังคงมีอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าคุณครู เพื่อน ๆ ห้องเรียน สนามกีฬา และอื่น ๆ เพราะการเรียนผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ไม่อาจจะมาทดแทนการเรียน ในโรงเรียน ได้ในทุก ๆ เรื่อง หรือ ทุก ๆ โอกาส มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จะต้องมีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น นอกจาก นี้การเรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่อง จำเป็นต้องมีการปฏิบัติ มีการฝึกในสถานที่จริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่นการทดลองในวิชาทางวิทยาศาสตร์ หรือ การเล่นฟุตบอล (การเล่นเกมส์ฟุตบอลในคอมพิวเตอร์ คงไม่ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง หรือให้เหงื่อออกได้เท่ากับเล่นในสนามจริง) ดังที่กล่าวมาแล้วว่าโรงเรียนในอนาคตจะมีวิชาให้เลือกเรียนหลากหลายมากขึ้น วิธีหนึ่งที่จะสนับสนุน หลักการดังกล่าวก็คือ การเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต ระหว่างโรงเรียนทุกแห่ง ตลอดจนชุมชนความรู้ เช่น กลุ่ม เกษตรกร กลุ่มนักประพันธ์ หรือแม้กระทั่งสถานประกอบการต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนการสอนผ่านทาง อินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า ห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ซึ่งจากที่โรงเรียนแห่งหนึ่งเคยมีครูแค่ 30-40 คน จะกลายเป็นมีครูนับแสน นับล้านคน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าปริมาณมากเช่นนี้จะทำให้การเรียนการสอนมี คุณภาพมากขึ้น หากแต่เพียงเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญใน แต่ละด้านหรือที่อาจะเรียกว่า "ครูแห่งชาติ หรือ ครูต้นแบบ" ไปสู่ครูและนักเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนในอนาคตจะมีการกำหนด คาบการเรียนผ่านระบบดังกล่าว และนักเรียนสามารถเข้ามาเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย ด้วยความเต็มใจ และพอใจ โดยมีครูจากสถาบันที่อยู่ไกลออกไปเป็นผู้ให้ความรู้ ให้งานกับนักเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประเมินผล ขณะที่ครูในโรงเรียนเดียวกับนักเรียนคนนั้นจะมีลักษณะเป็นเหมือนผู้อำนวย ความสะดวก ประสานงานกับครูจากห้องเรียนเสมือน และ เป็นครูที่ปรึกษาของนักเรียน หากท่านใดสนใจระบบการเรียน แบบห้องเรียนเสมือนนี้ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ http://vhs.concord.org ซึ่งเป็น โครงการ Virtual High School ในสหรัฐอเมริกา ครูทุกคนโปรดอย่ากังวลว่า เทคโนโลยีจะมาทดแทนท่านได้ อินเทอร์เน็ตจะเป็นเพียงแหล่งข้อมูล และ ชุมชนบน Cyber Space อินเทอร์เน็ตอาจจะเปรียบดั่งห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือหนังสือเล่มที่ใหญ่ที่สุด ในโลก แต่ก็มิอาจจะมาชดเชยกับมันสมองมนุษย์ได้ มิอาจจะมาทดแทนกับความทุ่มเทกายใจ ความรักที่มีต่อ ศิษย์หรือ คุณค่าของความเป็นครูได้ ที่สำคัญครูคือผู้ที่คอยอบรมบ่มนิสัย สร้างเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่ เทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ แม้แต่ บิล เกตส์ บุรุษที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากที่สุดคน หนึ่ง ยังกล่าวไว้ในหนังสือ "The Road Ahead" ว่า ไม่มีทางที่เทคโนโลยีจะมาแทนที่ครูได้ หากแต่เป็นเพียง เครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งสำหรับครูในอนาคต อินเทอร์เน็ต ยังมีบทบาทในด้านการสร้างความสัมพันธ์ ที่ดี ระหว่างครูกับผู้เรียนมากขึ้น ทุก ๆ คนทราบ ดีว่า จุดอ่อนของเด็กไทยคือ ความอาย ไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะในเวลาเรียน ถ้านักเรียนคนไหนยกมือถาม ครู เพื่อน ๆ ก็จะมองหน้านักเรียนคนนั้นเหมือนตัวประหลาด ประกอบกับครูซึ่งสอนโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเรียนการสอนจึงเป็นไปในลักษณะการสื่อสารแบบทางเดียว และการสอนให้จำมากกว่าสอนให้มีการ วิเคราะห์ และใช้เหตุผล การเรียนการสอนของไทยน่าจะให้ความสำคัญกับการให้คะแนนนักเรียนโดยดูจากการมี ส่วนร่วมในห้องเรียน ให้นักเรียนมีความกล้าในสิ่งที่ควรมากขึ้น โรงเรียนในอนาคต จะมีการให้ E-mail กับผู้ เรียน ครู และ เจ้าหน้าที่ทุกคน สิ่งนี้จะช่วยทำลายกำแพงขวางกั้นระหว่าง ผู้เรียนกับผู้สอน หากผู้เรียนไม่เข้าใจ ในเนื้อหา หรือ มีเรื่องขอคำปรึกษา จะสามารถเขียน E-mail ติดต่อโดยตรงกับครูท่านนั้น ครูจะช่วยเหลือนักเรียน ได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็คอยกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีบทบาทในห้องเรียนมากขึ้นหลังจาก ที่ครูและศิษย์เริ่มมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนทุกคน รวมทั้งผู้ปกครอง มีโอกาสติดต่อกับครูใหญ่ ได้ง่ายขึ้น และจะให้ ความคิดเห็น ข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น อินเทอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของ พรบ. การ ศึกษาฉบับนี้ เพราะโรงเรียนในอินเทอร์เน็ต เปิดสอนตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เรียนสามารถเลือกเวลาเรียนและมีหลัก สูตรให้เลือกมากมายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในวัยทำงานซึ่งต้องการเพิ่ม ความรู้ความสามารถในสายงานที่ ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งผู้สูงอายุซึ่งอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น เรียนการทำอาหารใหม่ ๆ ให้หลาน ๆ รับประทาน ซึ่งถือว่าเป็นความสุขอีกแบบของผู้สูงอายุ หากท่านสนใจลองเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.smartplanet.com หรือที่ http://www.ecollege.com การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตน่าจะเหมาะสมกับ การเรียนรู้เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมหรือการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) และไม่อาจจะมาทดแทนการ เรียนในรั้วโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยได้ เพราะโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นแหล่งชุมชนทาง วิชาการแล้ว ยังเป็นสนามการเรียนรู้ชีวิตการอยู่ในสังคม การทำกิจกรรม การรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การได้ฝึกปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือ มีครูผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับศิษย์ และศิษย์ทุกคนก็ต้องการความรักความ ห่วงใยจากครู แต่ครูจะต้องพยายามใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ในการสอน เครื่องมือดังกล่าวไม่ จำเป็นจะต้องเป็นอินเทอร์เน็ต หากแต่เป็นสิ่งใด ๆ ก็ตามที่สามารถหาไดได้ และตอบสนองต่อการความต้องการ การเรียนรู้ของผู้เรียนและพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพ สุดท้ายนี้ผมขอฝากคำถามไว้กับคุณครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เคารพทุกท่านว่า ท่านพร้อมแล้วหรือยังครับกับการปฎิรูปการศึกษาครั้งยิ่งใหญ่ ที่สุดในรอบศตวรรษนี้ ขอบคุณครับ ผมทราบว่าทุกท่านพร้อมแล้ว
                                                                                                                  

                                                                                                  
อ.ธารพรรษ สัตยารักษ์
ผู้ช่วยอธิการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่
เชิญแสดงความคิดเห็นได้ที่ tharnpas@hcc.ac.th

(จาก หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2543 คอลัมน์ Cyber Being หน้า 32)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น